จันทน์ขาว

จันทน์ขาว

จันทน์ขาว เป็นแก่นของพืช
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Santalum album L.
ในวงศ์ Santalaceae
ตำรายาโบราณอาจเรียกเป็นแก่นจันทน์ หรือ จันทน์หิมาลัย มีช่อสามัญว่า Sandalwood หรือ White Sandalwood เป็นเครื่องยาแขกเช่ยเดียวกับจันทน์แดง แพทย์โบราณจัดไว้เป็นจุลพิกัด เรียก “จันทน์ทั้ง๒”

ตำราสรรพคุณยา โบราณว่าจันทน์ขาวมีรสขม หวาน มี สรรพคุณบำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ตับ ปอด และดีพิการ แก้เหงื่อตกหนัก ขับพยาธิ น้ำจันทน์ขาวที่ใช้เป็นน้ำกระสายละลายยาจึงช่วยเสริมฤทธิ์ ของยาในตำรับนั้นด้วย เช่นยาขนานที่ ๒๗ อันเป็นยาแก้ปฐวีธาตุพิการ ในตำราพีะโอสถพระนารายณ์ ให้ใช้น้ำจันทร์ขาวหรือน้ำชะเอม เป็นน้ำกระสายยา ดังนี้ ถ้ามิถอย ให้เอาบรเพ็ด กะพังโหม รากมะแว้งทั้ง๒ รากหญ้าขัดมอญหลวง รากขี้กาแดง เชือกเขาพรรณ เสมอภาค ทำเปนจุณ ละลายน้ำจันทน์ขาวน้ำชเอมก็ได้ กินตามกำลัง แก้ปถวีธาตุพิการแลฯ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำ “จันทน์” ว่าเป็น “ชื่อพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผล หอม ใช้ทำยาและปรุงเครื่องหอม” แต่ความหมายของคำ “จันทน์” ไม่ได้หมายถึงเพียงชื่อพรรณไม้บางชนิดเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงส่วนของพืชที่มีกลิ่นหอม ใช้ดเป็นยาหรือเป็นเครื่องหอมด้วย เช่น พืชที่เรียก ลักกะจั่น (Dracaena loureiri Gagnep.) เมื่อแก่นมีราลง ทำให้เป็นสีแดง มีกลิ่นหอม ซึ่งเรียกแก่นไม้นี้ว่า จันทร์แดง และเนื่องจากมักพบพืชที่ให้จันทน์แดงขึ้นอยู่ตามหน้าผาเขาหินปูน จึงเรียกเครื่องยาที่เกิดขึ้นจสกพืชนี้ว่า จันทน์ผา จนกลายเป็นชื่อเรียกพืชในที่สุด ส่วนคำ”จันท์” “จันทร” หรือ “จันทร์” ในความหมายหนึ่งอาจแปลว่า ดวงเดือนหรือพระจันทร์ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า the moon ได้ และคำ moon ในภาษาอังกฤษนั้น ยังแปลว่าเดือน ที่ตรงกับคำ month ในภาษาอังกฤษ หรือ มาสในภาษาไทย เช่น ไตรมาส ที่แปลว่า (รอบ) สามเดือน เช่นเดียวกับคำว่า honeymoon ในภาษาอังกฤษ ซึ่งควรแปลเป็นภาษาไทยว่า มธุรสมาส(เดือนแห่งความหวานชื่นประดุจน้ำผึ้ง) ไม่ใช่น้ำผึ้งพระจันทร์ ซึ่งกลายเป็นคำที่ไม่ให้ความหมายในภาษาไทย

ต้น จันทนา ที่ใช้แทนจันทน์ขาวนี้ พบขึ้นตามป่าโปร่งและป่าดิบแล้งทั่วไปเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงราว ๔-๗ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มยาวๆรี เปลือกสีเทาอ่อนเรียบ หรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ไปตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ป้อม มน หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง ๔-๙ เซนติเมตร ยาว ๑๒-๒๐ เซนติเมตร โคนและปลายใบสอบ มน เนื้อใบหนา เกลี้ยง เป็นมัน มีก้านใบแบน ยาวราว ๒ เซนติเมตร มีหูใบแบบหูใบร่วม ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีหลายดอก ดอกย่อยมีกลิ่นหอม สีขาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก อย่างละ ๔ กลีบ โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ผลรูปกลมรี มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ มักมีผู้สำคัญผิดว่าจันทน์ขาวนี้ได้จากพืชอันมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Diospyros decandra Lour. ในวงศ์ Ebenaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดกลาง เปลือกต้นสีดำ เนื้อไม้สีขาวนวล ที่บางถิ่นเรียก จัน หรือ จันทน์ลูกหอม เพราะผลสุกมีกลิ่นหอม มี ๒ แบบ คือ ผลที่ไม่มีเมล็ด จะกลมแบน แป้น เรียก จันอิน ส่วนผลที่มีเมล็ด จะกลม โต เรียก จันโอ เปลือกผลเมื่อสุกสีเหลือง เนื้อหวานน้อย สมัยก่อนมีผู้กรีดเปลือกผลจันผ่านก้นลูกเป็น ๔ แนวเท่าๆกัน ลอกเอาเนื้อออกหมด แล้วปะเปลือกที่มีเมือกเหนียวภายในไว้ข้างฝาหรือกระจกใส ปล่อยให้แห้ง ติดไว้เพื่อความสวยงาม เรียกกันว่า ดอกจัน  แต่ดอกจันทน์ (mace) ที่เป็นทั้งเครื่องเทศและเครื่องยาไทยนั้น เป็นส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดของผลต้น จันทน์เทศ อันมีชื่อพกษศาสตร์ว่า Myristica fragrans Houtt. ในวงศ์ Myristicaceae มีชื่อสามัญว่า nutmeg tree โบราณไทยว่า ดอกจันทน์มีกลิ่น อาหารรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณบำรุงโลหิตบำรุงธาตุขับลมส่วนเมล็ดของสวรรค์ต้นจันทน์เทศนั้นเรียกลูกจันทน์ (nutmeg) ตำราโบราณว่ามีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ขับลม แก้ปวดมดลูก แก้ท้องร่วง บำรุงโลหิต

รูปภาพจาก:banidea.com